7471 Views |
โคมไฟอ่านหนังสือเลือกยังไงน้าาา? อยากรู้มาอ่านกันได้เลย!
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอ่านหนังสือจากกระดาษ ขอแสดงความยินดีด้วยก่อนเลยครับ เพราะมันดีกว่าการอ่านบนหน้าจอต่างๆทุกชนิด ที่เหลือก็แค่อ่านในที่ๆมีแสงสว่างเหมาะสมครับ
อยากมีแสงสว่างที่เหมาะสม ก็ต้องหาโคมไฟตั้งโต๊ะมาใช้งาน ซึ่งการซื้อโคมไฟอ่านหนังสือเนี่ย เราไม่ได้เอาแค่แสงไฟ จริงไหมครับ? มีมิติอื่นๆอีกมากมายที่ต้องคิด มีอะไรบ้าง… มาดูกันเลยครับ
1. โคมไฟต้องสวยงาม เข้ากับบ้าน
บ้านที่คุณอยากอยู่มันต้องมีบรรยากาศที่ดีจริงไหม? แล้วจะสร้างบรรยากาศดีๆได้อย่างไร?
ก็ไอ้รายละเอียดเล็กๆน้อยๆหลายๆอย่างมารวมกันนี่แหละครับ เมื่อเฟอร์นิเจอร์ Style เดียวกันหลายๆชิ้นมาอยู่รวมกัน ก็จะเกิดพลังครับ
ดังนั้นในเมื่อโคมไฟก็เป็น 1 ในเฟอร์นิเจอร์ที่ทำ Interior สมบูรณ์แบบ เสียตังค์ทั้งที Function ต้องได้ Design ต้องเยี่ยมนะครับ
2. เลือกใช้หลอด LED
ตำราเดิมๆจะเขียนว่าหลอดไส้ธรรมดาดีที่สุด แต่ผมเชื่อว่าทุกคนคงเห็นแหละว่าโลกปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคของ LED อย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นลองมาดูกันครับว่า LED เหมาะกับการอ่านหนังสืออย่างไร…
– แสงจาก LED ไม่มีรังสีอินฟราเรด และ อัลตราไวโอเลต
ซึ่งถ้าให้อธิบายอย่างง่ายๆ อินฟราเรดก็คือคลื่นความร้อน ส่วนอัลตร้าไวโอเลตคือรังสีที่ทำลายเซลล์ผิวในร่างกาย ส่งผลให้หน้าเหี่ยว เป็นฝ้า และที่น่ากลัวที่สุดก็คือมะเร็งผิวหนัง (หลอดอื่นๆมีอยู่บ้าง แต่ไม่เยอะ)
– หลอดไฟไม่ร้อน
โบราณเขาว่าอย่าเล่นกับไฟ ผมเสริมให้นิดนึง หลอดไฟก็อย่าไปเล่นนะครับ จับแล้วนิ้วพอง เจ็บมากจริงๆ (พูดถึงหลอดไส้นะ)
เนื่องจากโคมไฟตั้งโต๊ะอ่านหนังสือ เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่วางไว้ใกล้เรามากถึงมากที่สุด มันจึงมีโอกาสที่ใครจะไปแตะโดนได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่มีประสบการณ์นิ้วไหม้
ดังนั้นใช้ LED เถอะครับ มันดีกว่าหลอดไส้ตรงที่มันไม่ร้อนนี่แหละครับ ใช้แล้วปลอดภัย
-ประหยัดไฟ
จะว่าไป โคมไฟตั้งโต๊ะทำงาน หรือ โคมไฟอ่านหนังสือ มันก็ตัวเดียวกันนั่นแหละ จริงไหมครับ? ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่กับโต๊ะทำงานวันละ 7-8 ชั่วโมง เปลี่ยนมาเป็น LED เถอะครับ คุณจะสามารถประหยัดค่าไฟได้มากถึง 4-5 เท่าเลยทีเดียว
-มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
LED 1 หลอด อาจมีอายุการใช้งานเท่ากับหลอดไส้ 8-20 หลอด แปลว่า คุณไม่ต้องเดินไปซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนบ่อยๆ ขณะเดียวกัน คุณก็ช่วยลดจำนวนขยะบนโลกของเราด้วยครับ
3. เลือกสีของแสงให้เหมาะสม
“สี” ของแสง หรือบางคนเรียกว่า “อุณหภูมิแสง” สำหรับการอ่านหนังสือ คนส่วนมากนิยมใช้แสง Warm White หรือ Cool White หรือถ้าพูดในภาษาชาวบ้านก็คือ “แสงเหลือง” และ “แสงขาวธรรมชาติ” นั่นแหละครับ
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมชอบ Cool White ที่สุด (ประมาณ 4000 – 4500K) เพราะรู้สึกอ่านแล้วสบายตา แสงเหลืองอ่านแล้วง่วง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดครับ ความสว่างสำคัญกว่า
มานอกเรื่องกันสักนิดว่าด้วยเรื่องกระดาษนะครับ เวลาอ่านหนังสือ แสงจากต้นกำเนิดแสงจะตกกระทบลงบนกระดาษ จากนั้นก็สะท้อนเข้าตาเรา เกิดการรับภาพส่งไปยังสมอง บลาๆๆ… แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นครับ 555
ที่จะบอกต่อก็คือ ไอ้แสงที่สะท้อนเนี่ย มันสะท้อนรังสี UV เข้าตาด้วยนะครับ ดังนั้น ผู้อ่านหนังสือที่รักษาสายตาทั้งหลายจึงควรลองพิจารณากระดาษ Green Read ครับ (กระดาษสีเหลืองๆนวลๆ ผิวหยาบเล็กน้อย เป็นมิตรต่อสายตา)
ว่ากันโดยหลักการ Green Read มีคุณสมบัติช่วยดูดกลืนแสงในช่วงแสงสีน้ำเงินได้ดี จึงลดแสงสะท้อนเข้าตาได้ประมาณ 15% มันจึงลดความจ้าและลดปริมาณ UV ที่เข้าสู่ตาของคุณ
ขณะเดียวกัน ถ้าคุณต้องพิมพ์งานที่ Serious เรื่องสี ก็อย่าเลือก Green Read นะครับ… เดี๋ยวสีจะเพี้ยนหมด 555 ตามชื่อเลยครับ ใช้สำหรับอ่านเท่านั้น
นอกเรื่องอีกนิดครับ (แต่ควรรู้นะ) กระดาษที่มันขาวก็เพราะใส่สารเพิ่มความขาว มันเป็นสารเรืองแสง หรือ Optical Brightening Agents (OBA) ครับ ซึ่งกินไม่ได้
สำหรับประเทศไทย ไม่มีกฎหมายควบคุมแก้วกรวยกระดาษสำหรับดื่มน้ำ ดังนั้นฝากระวังไว้ด้วย กรวยขาวๆดูสะอาดตา อาจมีสารปนเปื้อนอยู่ก็ได้ แล้วถ้ามันมี และคุณดื่มบ่อยๆ คุณก็อาจเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ครับ
4. เลือกความสว่างให้เหมาะสม
ก็อย่างที่เคยเขียนไปแล้วครับ มืดไปก็ไม่ดี สว่างไปก็ไม่ดี ทำให้ตาพังเร็วขึ้นทั้งนั้น แถมยังมีอิทธิพลต่อความรู้สึกอีกเช่น พอมืด ก็ชักเคลิ้มๆง่วงๆ (ยิ่งอ่านหนังสือนี่ ขนาดบางทีสว่างยังง่วงเลยครับ 555)
ดังนั้น เพื่อสุขลักษณะที่ถูกต้อง ควรให้มีค่าความสว่างบนโต๊ะอ่านหนังสือประมาณ 500 lux ครับ ทั้งนี้ชีวิตจริง คงไม่มีใครนั่งวัดค่าความสว่างที่ตกกระทบบนหนังสือจริงไหม? 555
ทำไงดีล่ะ? ก็ไม่มีอะไรครับ เปิดไฟไว้ก่อนครับ แล้วลองถามตัวเองดูว่ามืดไปไหม? หรือจะสังเกตตัวเองก็ได้ว่าเราเพ่งสายตาอยู่หรือเปล่า? ถ้าเพ่งก็แปลว่ายังมืดเกินไปครับ จะเปิดไฟเพิ่มก็ได้ หรือลองเปลี่ยนหลอดไฟรุ่นที่สว่างกว่าเดิมก็ได้ครับ
นายปลั๊กไฟ